การศึกษา ศาสนา สังคม ฐานชุมพร อาชญากรรม

รวมพลังสมัชชาพลเมือง ร่วมสร้างชุมพรน่าอยู่

จัดเวทีสมัชชาสุขภาพ “สมัชชาพลเมือง ร่วมสร้างชุมพรน่าอยู่ ความมั่นคงทางอาหารและชีวิต”

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563  นายสมพร ปัจฉิมเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เป็นประธานเปิดงาน “สมัชชาพลเมืองจังหวัดชุมพร ร่วมสร้างชุมพรน่าอยู่ ความมั่นคงทางอาหารและชีวิต” โดยมีนางสาวแสงนภา หลีรัตนะ ประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดชุมพร นายจินดา บุญจันทร์ ประธานสภาองค์กรชุมชนจังหวัดชุมพร นายทวีวัตร์ เครือสาย นายกสมาคมประชาสังคมจังหวัดชุมพร พร้อมสมาชิกเครือข่ายเข้าร่วมงานจำนวนมาก ณ ห้องประชุมโรงแรมเพื่อนใจรีสอร์ท อ.เมือง จ.ชุมพร

นางสาวแสงนภา หลีรัตนะ ประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่าการจัดงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดชุมพร ครั้งนี้เป็นปีที่ 8  สำหรับในปีนี้มีการจับมือกับ 3 องค์กรภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดงานภายใต้ชื่อ “สมัชชาพลเมืองจังหวัดชุมพร ร่วมสร้างชุมพรน่าอยู่”  โดยให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงทางอาหารและชีวิต  โดยมี นายทวีวัตร เครือสาย นายกสมาคมประชาสังคมชุมพร (Node Flagship Chumphon ดูแล 25 พื้นที่โครงการ) ซึ่งมีเป้าประสงค์ของการดำเนินงานเพื่อเป็นการสร้างเสริมสุขภาวะให้กับประชาชนคนชุมพรมีสุขภาพดี โดยให้ความสำคัญใน 2 ประเด็นหลัก คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ จัดการโรคเรื้อรัง และระบบเกษตรและอาหารเพื่อสุขภาพ  ส่วนนายจินดา บุญจันทร์ ประธานสภาองค์กรชุมชนจังหวัดชุมพร จะเป็นองค์ภาคีในการขับเคลื่อนประเด็นงานร้อนให้กับประชาชนจังหวัดชุมพรในเรื่องที่ดิน ที่อยู่อาศัย และสวัสดิการชุมชน

การจัดงานในครั้งนี้ของภาคประชาสังคมจะสอดคล้องกับวิสัยทัศน์จังหวัดชุมพรที่ว่า “ชุมพรเมืองน่าอยู่ บนพื้นฐานการเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวคุณภาพ” นอกจากนี้ยังมีภาคีเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนงานได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตชุมพร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร  สมาคมเพื่อนสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพร ชมรมจิตอาสาธนาคารสมองชุมพร เครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดชุมพร ได้ออกแบบความร่วมมือ เชื่อมประสานสนับสนุนการพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งผลักดันชุมพรเมืองน่าอยู่ โดยใช้พื้นที่รูปธรรมพร้อมความรู้และเทคโนโลยี ให้ขยายผลไปพื้นที่ต่าง ๆ ให้เป็นพื้นที่สาธารณะ แลกเปลี่ยน ออกแบบความร่วมมือสนับสนุนส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาวะ ให้กับประชาชนคนชุมพร และเกิดข้อถกแถลงข้อเสนอนโยบายสาธารณะ เพื่อเป็นการสร้างเสริมสุขภาวะให้ชุมพรเมืองน่าอยู่ต่อผู้บริหารระดับจังหวัด และผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร ดังนี้คือ

1.ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร ให้ความสำคัญในประเด็นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยประสานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่รับผิดชอบสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาคนให้รู้เท่าทันสถานการณ์มีประสิทธิภาพมีการจัดการบริหารองค์กรที่ดี มีหลักธรรมาภิบาลโปร่งใสตรวจสอบได้

2.ขอให้จังหวัดชุมพรและองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร  ให้ความสำคัญสนับสนุนให้เแผนยุทธศาสตร์ระบบอาหารจังหวัดชุมพร   (พรบ.คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ปี 2551 มียุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารฉบับที่ 2  (2561-2579 )   มุ่งสู่วิสัยทัศน์ที่ว่า “ประเทศไทยมีความมั่นคงด้าน อาหารและโภชนาการ เป็นแหล่งอาหารที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อชาวไทยและชาวโลกอย่างยั่งยืน” )    ประกอบด้วยความมั่นคงอาหาร อาหารปลอดภัย  โภชนาการสมวัย  การสร้างความเข้มแข็งแก่สถาบันเกษตรกรให้เป็นเสาหลักของชุมชนท้องถิ่น พร้อมการเชื่อมโยงประสานเครือข่ายในระดับท้องถิ่น จังหวัดหรือภูมิภาคให้เป็นพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย

3. ขอให้จังหวัดชุมพรและองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร  สนับสนุนการพัฒนาระบบเกษตรสุขภาพ หรือเกษตรกรรมยั่งยืน  ในรูปแบบ 5 รูปแบบ ได้แก่ เกษตรทฤษฎีใหม่  เกษตรผสมผสาน  เกษตรอินทรีย์  วนเกษตร/ธนาคารต้นไม้ เกษตรธรรมชาติ    และ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำประมงชายฝั่ง) โดยส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานและเพิ่มมูลผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร การพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบโดยหลักอาชีวอนามัย ให้บรรลุผลลัพธ์ ผู้ผลิตปลอดโรค  ผู้บริโภคปลอดภัย

4.ขอให้จังหวัดชุมพรและองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร  สนับสนุนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมและพืชอัตลักษณ์ถิ่น โดยการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์ ให้คงอยู่เป็นฐานทรัพยากรกับชุมชนท้องถิ่น การส่งเสริมธนาคารเมล็ดพันธุ์และพันธุกรรมถิ่น การวิจัยและพัฒนาสมุนไพรเพื่อสุขภาพและการแพทย์ประจำถิ่น เช่น กัญชาเพื่อการแพทย์ กระท่อมชูกำลัง ขมิ้นถิ่นใต้ ฯ การพัฒนาต่อยอดพืชอัตลักษณ์ถิ่นให้เกิดมูลค่าและคุณค่าเพิ่มขึ้น เช่น กล้วยเล็บมือนางชุมพร ข้าวไร่ชุมพร ข้าวเหลืองปะทิว เป็นต้น

5. ขอให้จังหวัดชุมพรและองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร  การอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนาระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมที่สมดุลยั่งยืน โดยการขยายผลการสร้างฝายมีชีวิตและการจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม การอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนาทรัพยากรดิน น้ำ ป่า และสภาพแวดล้อม การพัฒนากลไกเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศแบบมีส่วนร่วม การประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ และการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) เป็นต้น 

6. ขอให้จังหวัดชุมพรและองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร  สนับสนุนการสร้างสุขภาวะเกษตรกรชาวยางและปาล์มน้ำมัน โดยมีแนวทางสำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมสวนยางยั่งยืน หรือพืชร่วมยาง   สวนปาล์มยั่งยืนการส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งรองรับวิกฤติเศรษฐกิจ   การวิจัยและพัฒนา  ทั้งแปรรูปพัฒนามาตรฐานการผลิตสวนยางและสวนปาล์มยั่งยืน   ส่งเสริมระบบการออมเงินหรือสวัสดิการสังคมให้รองรับสังคมผู้สูงอายุ

7. ขอให้กระจายอำนาจการจัดการที่ดินนอกจากแนวเขตที่ดินทำกินในเขตป่าทุกประเภทให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกับภาคประชาชน โดยมีภาคีภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้หนุนเสริม สนับสนุน รวมทั้งการจัดทำข้อมูลผู้ตกสำรวจเสนอกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

8.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินภาคประชาชนเพื่อทำหน้าที่ นำข้อมูลผู้เดือดร้อน/ผู้ตกสำรวจ มาวิเคราะห์/สังเคราะห์ก่อนประมวลปัญหาและข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาให้กับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินระดับจังหวัด(คทช.จังหวัด) โดยแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินภาคประชาชนระดับจังหวัดทำงานคู่ขนานกับ คทช.จังหวัด 

9.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความสำคัญโดยประสานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบขับเคลื่อนปัญหาด้านที่อยู่อาศัย(One Home)ของจังหวัดชุมพรให้เกิดผลเชิงรูปธรรม โดยบูรณาการข้อมูลผู้ยากไร้/ผู้ด้อยโอกาส/คนเปราะบางทางสงคม จากหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) มีแผนงานโครงการ บ้านพอเพียงชนบท /บ้านมั่นคงเมือง/บ้านมั่นคงชนบท การเคหะจังหวัดชุมพรมีโครงการบ้านเอื้ออาทร สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีโครงการซ่อมสร้างแก้ผู้ยากไร้คนชรา คนเปราะบางและมีโครงการบ้านเทิดไท้องราชันย์ จากจังหวัดเป็นต้นโดยนำข้อมูลและแผนการขับเคลื่อนด้านที่อยู่อาศัย ของทุกหน่วยงานจัดทำแผน One plan ตากหลักการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยหน่วยงานที่ขับเคลื่อนด้านที่อยู่อาศัยจะหนุนเสริมอุดช่องว่างซึ่งกันและกัน

10.ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประสานงานหน่วยงานที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกำกับดูแล สนับสนุนงบประมาณพัฒนาเสริมสร้างขีดความสามารถ/งานสมัชชา ให้เกิดความเข้มแข็งทั้งด้านการบริหาร/ ยกระดับข้อมูล/การสื่อสารผลการดำเนินงานสู่สาธารณะ/ประสานความร่วมมือกับภาคี/การสร้างเครือข่ายและการขับเคลื่อนเชิงนโยบายโดยใช้หลักธรรมมาภิบาล การบริหารจัดการที่ดีเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของกองทุนสวัสดิการ เกิดความมั่นคงและสังคมเอื้ออาทรระดับรากหญ้า

11.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประสานหน่วยงานที่กำกับดูแลมีหน้าที่ภาระกิจด้านสวัสดิการสังคม เช่น พมจ. พช. อปท. อบจ. และหน่วยงานภาคเอกชน (CSR) นำข้อมูลด้านสวัสดิการสังคมจัดทำแผนงานขับเคลื่อนสวัสดิการในเชิงบูรณาการสู่แผนสวัสดิการสังคม ระดับจังหวัดและใช้กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนสวัสดิการสังคมในระดับตำบล

12.ขอให้จังหวัดชุมพร สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะการจัดการโรคเรื้อรัง ด้วยการส่งเสริมการลดปัจจัยเสริม เพิ่มปัจจัยเสี่ยง เร่งพัฒนาวิทยากรกระบวนการให้เกิดความตระหนักรู้ด้านสุขภาพในชุมชนท้องถิ่น

13. ขอให้ อบจ.ชุมพร ร่วมกับ สปสช. เขต 11 จัดตั้งกองทุนฟื้นฟู สมรรถภาพระดับจังหวัด

ด้าน ผศ.ดร.ชุมพล แก้วสม อาจารย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตชุมพร กล่าวว่าการจัดเวทีของภาคประชาสังคมในครั้งนี้  เป็นการผนึกกำลังของภาคประชาสังคมหลายภาคีที่ร่วมกันขับเคลื่อน ให้จังหวัดชุมพรเป็นเมืองน่าอยู่ของเครือข่ายประชาชาชน ที่มีนักวิชาการจาก 2 สถาบันเป็นที่ปรึกษาฝ่ายงานวิชาการ คือ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขต ชุมพร และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร คาดว่าในอนาคตข้อเสนอทั้งหมดที่ร่วมกันร่างขึ้นมา จะถูกนำไปใช้ในระดับจังหวัด ก็ถือว่าความสำเร็จตามเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้.