ดำเนินคดีแก๊งชายแดนชุมพร-ระนอง
ข่าวเด่น ทั่วไป ร้องเรียน อาชญากรรม

ดำเนินคดีแก๊งชายแดนชุมพร-ระนอง

ผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วม กอ.รมน.ภาค 4 สรุปสำนวนสอบสวนแจ้ง ปปช.-ปปป. เอาผิด แก๊งอิทธิพล-เจ้าหน้าที่รัฐ ขบวนการขายชาติ กระทบความมั่นคงชายแดนชุมพร-ระนอง เหิมหนักเจาะฐานระบบข้อมูลบุคคล

วันที่ 24 เม.ย. ร.ต.ต.พงศกร มีพันธุ์ ผอ.ส่วนสอบสวน 4 สำนักสอบสวน 4 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ตามที่สำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้รับเรื่องร้องเรียนจากราษฎรในพื้นที่ จ.ชุมพร ว่าได้มีเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร่วมกันลักลอบเข้าไปบุกรุกแผ้วถางทรัพยากรธรรมชาติ ปลูกปาล์มน้ำมัน ยางพารา ในเขตแนวชายแดนไทยและเมียนมา ด้านตำบลรับร่อ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร แล้วนำผลอาสินสวมสิทธิเข้ามาขายในประเทศไทย รวมถึงมีการลักลอบค้าแรงงานเถื่อน จึงได้ประสานกับกองทัพภาค 4 เข้าดำเนินการตรวจสอบ และสืบสวน เนื่องจากเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายในของราชอาณาจักร
ทั้งนี้ คณะทำงานแก้ไขปัญหาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร บริเวณพื้นที่ชายแดนจังหวัดชุมพรและระนอง โดยสำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ภาค 4 บูรณาการกำลังเข้าตรวจสอบตั้งแต่ 4 มีนาคม 2568 โดยได้มีการสอบสวนบันทึกถ้อยคำพยานบุคคล และแสวงหาข้อมูล พบว่ามีบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและเอกชน มากกว่า 10 ราย ร่วมกันเป็นขบวนการ ดำเนินการุกรุกพื้นที่ ปลูกผลอาสิน รวมถึงขนย้ายแรงงานชาวโรฮีนจา เข้ามายังประเทศไทยนั้น
ล่าสุดได้มีการสรุปสำนวนการบันทึกปากคำ เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง ต่อ ป.ป.ช.-ปปป. ส่วนกลางเรียบร้อยแล้ว
ร.ต.ต.พงศกร กล่าวต่อว่า ผลการตรวจสอบ พบว่าพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน ต.รับร่อ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร มีการใช้รถแบ๊กโฮลักลอบปรับไถเปิดจุดชายแดนเข้าออกนอกราชอาณาจักรมากกว่า 10 จุด และใช้เป็นเส้นทางเข้าออกประจำ 5 จุด เข้าออกกันอย่างเสรี ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล ใช้เป็นเส้นทางขนสินค้าเกษตรเถื่อน อาทิ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน โดยไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากร ลักลอบขนไม้เถื่อน แร่เถื่อน แรงงานเถื่อน ค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจา ซึ่งตั้งแคมป์อยู่ห่างชายแดนประมาณ 5 กม. มีชาวโรฮีนจาประมาณ 400-500 คน ในเขตคุ้มครองของทหารกะเหรี่ยง KTLA จัดสรรหลอกขายให้กับคนไทยมากกว่า 1 พันไร่ ราคาไร่ละ 50,000-100,000 บาท

ส่วนในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน อ.กระบุรี จ.ระนอง มีการตั้งชื่อหมู่บ้านนอกราชอาณาจักรว่า “หมู่บ้านอินทนินงาม” มีกลุ่มคนไทยหลายกลุ่ม เข้าไปสร้างที่อยู่อาศัย มีร้านค้า ร้านอาหาร ทำการเกษตรยางพารา ปาล์มน้ำมัน และอื่นๆ นำผลผลิตออกมาขายฝั่งไทย โดยมี “นายสมาน” สัญชาติไทย มีภูมิลำเนาอยู่ทางภาคเหนือ อ้างตัวเป็นนายพลกะเหรี่ยง และอ้างว่าสนิทกับทหารไทย คอยติดต่อประสานงานกับทางการไทย
โดยรายงานข่าวแจ้งว่า ในการร้องทุกข์กล่าวโทษของผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่อกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กองบัญชาการสอบสวนกลาง ได้ส่งมอบหลักฐานการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ 2 ราย ที่ใช้อำนาจหน้าที่เข้าสู่ระบบข้อมูลบุคคล จนนำไปสู่การติดตามอุ้มสายข่าวของทางราชการไปฆ่าฝังศพในพื้นที่หมู่บ้านอิทนทนิลงามนอกราชอาณาจักรฝั่งประเทศเมียนมา
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากกรณีดังกล่าว ได้นำสรุปสำนวนการสืบสวนและการบันทึกปากคำ เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษกับ ป.ป.ช.กลาง ให้ดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคล และข้าราชการไม่น้อยกว่า 10 ราย ที่ผลการสอบสวนเกี่ยวพันทางเส้นทางการเงิน โดยทั้งหมด เป็นเจ้าหน้าที่ของปกครอง ทหาร และตำรวจ ที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ชายแดนฝั่งอันดามัน.